Article

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ชวนชมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับนักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 คือ พระสันทัดอักษรสาร (ฮอก อักษรานุเคราะห์)


เนื่องในวันที่ 5 มีนาคมของทุกปีเป็นวันนักข่าว หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ชวนชมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับนักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 คือ พระสันทัดอักษรสาร (ฮอก อักษรานุเคราะห์) ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมากในอดีต ชื่อ หนังสือพิมพ์ไทยซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กึ่งราชการในรัชกาลที่ 6 หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองและ อดีตผู้จัดการหนังสือพิมพ์คณะรัฐธรรมนูญ ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ มีพระอภัยรณฤทธิ์เป็นบรรณาธิการ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่สวนสราญรมย์ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีกรุง แต่ยังคงเป็นหนังสือกึ่งราชการจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก
 
ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของทั้งฝ่ายนิยมระบอบใหม่ ฝ่ายนิยมระบอบเก่า และฝ่ายที่วางตัวเป็นกลาง เพื่อเป็นกระบอกเสียงรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตน โดยคณะราษฎรมีหนังสือพิมพ์คณะรัฐธรรมนูญ KANA RATTHADHAMANOON (The constitution News) ราคาจำหน่ายเล่มละ 3 สตางค์ เป็นปากเสียง ในขณะที่ฝั่งหนังสือพิมพ์ที่ถูกเชื่อว่าสนับสนุนระบอบเก่า คือ หนังสือพิมพ์ในสังกัดกรมพระคลังข้างที่
 
วัตถุที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ อยากอวด คือ ใบเสร็จรับเงินค่าหนังสือพิมพ์รัฐธรรมนูญซึ่งระบุรายละเอียดว่า ที่ทำการในพระราชอุทยานสราญรมย์ พระนคร โทรศัพท์เลขที่ 1325 บิลที่ 0883 ใบรับเงินที่ 1114 วันที่ 1 มีนาคม 2477 เรียกเก็บจากสำนักงานจัดหาผลประโยชน์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ชำระเงินค่ารับหนังสือพิมพ์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ แต่วันที่ 2 ก.ภ. (ตัวย่อตามต้นฉบับ) ถึง 2 มี.ค. รวม 1 เดือน เป็นจำนวน 0.90 บาท มีลายมือชื่อ พระสันทัดอักษรสาร เป็นผู้จัดการ และตอนท้ายใบเสร็จระบุว่า เมื่อชำระเงินให้ตามบิลฉบับนี้ โปรดเรียกใบรับเงินของสำนักหนังสือพิมพ์รัฐธรรมนูญด้วย และใบรับเงินต้องมีลายเซ็นนามของผู้จัดการ ตลอดจนคนเก็บเงิน จึงจะรับรองว่าถูกต้อง 
 
ใบเสร็จแผ่นนี้ แสดงถึงการดำเนินกิจการของหนังสือพิมพ์กึ่งราชการที่ออกข่าวสารเผยแพร่ความเห็นฝ่ายรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านการเปลี่ยนฝ่ายของรัฐบาลระบอบเก่าเป็นระบอบใหม่ หนังสือพิมพ์ยังคงมีบทบาทในการเป็นกระบอกเสียง ในกรณีของหนังสือพิมพ์รัฐธรรมนูญนี้ รัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนนั่นเอง
 
ในใบเสร็จมีลายมือชื่อของผู้จัดการ คือ พระสันทัดอักษรสาร (ฮอก อักษรานุเคราะห์) และมีลายมือและลายเซ็นชองผู้เก็บเงินซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด พระสันทัดอักษรสาร เกิดเมื่อ 27 เมษายน 2425 เมื่อสำเร็จการศึกษามีความรู้ภาษาไทยและจีนดี เริ่มทำงานที่โรงพิมพ์คงไทยทินกาลเมื่อปี พ.ศ. 2440 โรงพิมพ์ได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งต่อมาใน ปี พ.ศ. 2451 ใช้ชื่อว่าหนังสือพิมพ์ไทย แต่เกิดขาดทุนและมีหนี้สินรัฐบาลจึงเข้าซื้อกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2453 โดยให้หลวงสันทัดอักษรสารและพระคลังข้างที่ร่วมเป็นเจ้าของ และเลิกกิจการไปในเดือนกรกฎาคม 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
 

ใบเสร็จรับเงินค่าหนังสือพิมพ์รัฐธรรมนูญ ที่ทำการในพระราชอุทยานสราญรมย์ พระนคร 
บิลที่ 0883 ใบรับเงินที่ 1114 วันที่ 1 มีนาคม 2477 
เรียกเก็บจากสำนักงานจัดหาผลประโยชน์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ 
เป็นจำนวน 0.90 บาท มีลายมือชื่อพระสันทัดอักษรสาร เป็นผู้จัดการ