อาคารรำไพพรรณี

ความเป็นมาของอาคารรำไพพรรณี
 
 

ในปี พ.ศ. 2515 กรมโยธาธิการได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัวแอล (L) สูง 6 ชั้น (ชั้น 6 เป็นดาดฟ้า) บริเวณด้านหลังอาคารอนุรักษ์ เพื่อใช้เป็นสำนักงานรองรับการขยายตัวของกรม ต่อมาใน พ.ศ. 2543 กรมโยธาธิการได้สร้างสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นบริเวณถนนพระราม 6 และได้ย้ายหน่วยงานต่างๆ ไปอยู่ที่สำนักงานแห่งใหม่ใน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบสิทธิการเช่าอาคารอนุรักษ์และพื้นที่ทั้งหมดของกรมโยธาธิการ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิพิธภัณฑ์ด้านการเมืองการปกครอง
 
สถาบันพระปกเกล้าได้หารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน ทั้งสองหน่วยงานเห็นชอบกับความคิดดังกล่าว จึงได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ที่ประชุมสภาสถาบันฯ ได้ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น ในวันที่ 17 มีนาคม 2546 สถาบันพระปกเกล้าได้จัดประชุมหารือร่วมระหว่าง 3 หน่วยงานเพื่อจัดสรรการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว จากนั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 ทั้ง 3 หน่วยงานลงนามในบันทึกข้อตกลงการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยมีแนวคิดและสาระสำคัญ ดังนี้
 
“...สถาบันพระปกเกล้า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสู่ประชาชน โดยผ่านสื่อและกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเป็นปึกแผ่นและยั่งยืน หน่วยงานทั้ง 3 ฝ่ายจึงได้ทำข้อตกลงการใช้พื้นที่อาคาร 5 ชั้น ให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองของไทย อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าชมที่สามารถเยี่ยมชมและศึกษา ค้นคว้าหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 แห่งในสถานที่เดียวกัน และให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้เสนอของบประมาณในการออกแบบ ปรับปรุง และตกแต่งอาคาร 5 ชั้นเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้สนับสนุน..”
 
การออกแบบปรับปรุงอาคาร
 
นายเดโช สวนานนท์ กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าและประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นเห็นว่า แนวคิดที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง จึงได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการควบคุมการออกแบบปรับปรุงอาคารเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์” โดยมี ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว มีหน้าที่ให้คำแนะนำการออกแบบรายละเอียดเพื่อจัดทำ พิพิธภัณฑ์ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งแนะนำปรับปรุงแก้ไขการออกแบบให้ถูกต้อง
 
  
 
รูปแบบและพื้นที่ใช้สอย
 
เป็นอาคารสมัยใหม่ 6 ชั้น โดยต่อเติมลักษณะภายนอกให้มีความกลมกลืนกับอาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์
  • ชั้น 1 ห้องรับรอง ห้องเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และลานจอดรถ
  • ชั้น 2 นิทรรศการพัฒนาการการเมืองการปกครองไทย ห้องจัดแสดงรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และลานอเนกประสงค์
  • ชั้น 3 นิทรรศการรากฐานประชาธิปไตย
  • ชั้น 4 นิทรรศการหมุนเวียน  ห้องศูนย์ข้อมุลพระปกเกล้าศึกษา
  • ชั้น 5 สำนักงานพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และห้องประชุม
  • ชั้น 6 ห้องประชุมใหญ่และห้องรับรอง
 
การขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “รำไพพรรณี” เป็นชื่ออาคาร
 
เมื่อดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารใกล้แล้วเสร็จ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ ได้หารือเรื่องชื่ออาคารและพิธีเปิดอาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ดังนั้น สถาบันพระปกเกล้าจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญพระนามาภิไธย “รำไพพรรณี” เป็นชื่ออาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อคู่กับอาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่ออาคารที่ปรับปรุงใหม่ว่า “อาคารรำไพพรรณี” ตามที่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ในการนี้ สถาบันพระปกเกล้าได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารรำไพพรรณีและพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงภายในอาคารทั้ง 2 แห่ง ในวันที่ 9 มกราคม 2551